วันอังคารที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

กฎหมายเกี่ยวกับชีวิตประวันของประชาชน/แจ้งตาย



1. กรณีตายในโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลต่างๆ  
 เมื่อมีคนตายในโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลต่างๆ ผู้รักษาก่อนตายจะต้องออกหนังสือรับรองการตาย (ท.ร. ๔/๑) ให้ไว้เป็นหลักฐาน เพื่อใช้ในการแจ้งตาย โดยบุคคลที่มีหน้าที่ในการแจ้งการตายในกรณีนี้ ได้แก่
    1. หัวหน้าของโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลนั้น ซึ่งอยู่ในฐานะเจ้าบ้าน แล้วแต่กรณี
      2. บุคคลที่เจ้าบ้านมอบหมายให้แจ้งการตายแทน
ระยะเวลาในการแจ้งตาย
          ต้องทำการแจ้งภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่บุคคลนั้นตาย
สถานที่แจ้งการตาย
      ถ้าโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลที่มีคนตายนั้น ตั้งอยู่ในเขตเทศบาล ให้แจ้งการตายที่งานทะเบียนของสำนักเทศบาลในท้องที่นั้นๆ
ถ้าโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลที่มีคนตายนั้น ตั้งอยู่นอกเขตเทศบาล ให้แจ้งการตายที่งานทะเบียนของ ณ ที่ว่าการอำเภอในเขตท้องที่นั้นๆ
หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง
          1. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้งการตาย หรือของผู้ที่ได้รับมอบหมายการแจ้งนั้น
          2. บัตรประจำตัวประชาชนของคนตาย (ถ้ามี)
          3. หนังสือรับรองการตาย (ท.ร. ๔/๑) ที่โรงพยาบาล หรือสถานพยาบาล ออกให้
          4. สำเนาทะเบียนบ้านที่คนตายมีชื่ออยู่  (ถ้ามี)
กรณีคนตายนอกสถานพยาบาล
          1. กรณีคนตายในบ้าน เช่น บ้านของคนตายเอง บ้านของญาติพี่น้อง บ้านของเพื่อนบ้าน ในโรงงาน หรือสถานประกอบการต่างๆ เป็นต้น บุคคลผู้มีหน้าที่แจ้งการตาย ได้แก่
             1. เจ้าบ้านของบ้านที่มีคนตาย
             2. ผู้พบศพ (กรณีไม่มีเจ้าบ้าน)
             3. บุคคลที่ได้รับมอบหมายให้แจ้งการตายแทน
          การแจ้งการตายกรณีนี้ จะต้องแจ้งภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาตาย หรือเวลาที่พบศพ โดยให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
          - ถ้าบ้านที่คนตายอยู่ในเขตท้องที่ที่ว่าการอำเภอ ให้แจ้งต่อผู้ใหญ่บ้านของหมู่บ้านที่มีคนตายหรือพบศพนั้น โดยผู้ใหญ่บ้านในฐานะนายทะเบียนผู้รับแจ้งประจำหมู่บ้านจะรับแจ้งการตาย  และออกหลักฐานรับแจ้งการตาย (ท.ร. ๔ ตอนหน้า) ให้ไว้เป็นหลักฐาน เมื่อได้รับใบรับแจ้งการตายแล้ว เจ้าบ้านหรือ ผู้พบศพจะต้องนำหลักฐานดังกล่าวไปแจ้งต่อนายทะเบียน เพื่อขอให้ออกใบตายหรือใบมรณบัตร
          - ถ้าบ้านที่คนตายอยู่ในเขตท้องที่เทศบาล ให้ไปแจ้งการตายที่งานทะเบียน ของสำนักงานเขตเทศบาลที่มีคนตายหรือพบศพนั้น  กรณีนี้จะไม่มีหลักฐานใบรับแจ้งการตาย (ท.ร. ๔ ตอนหน้า)
หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง
          1. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้งการตาย หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย
          2. บัตรประจำตัวประชาชนของคนตาย (ถ้ามี)
          3. ใบรับแจ้งการตาย (ท.ร. ๔ ตอนหน้า) ที่ผู้ใหญ่บ้านออกให้ (ถ้ามี)
          4. สำเนาทะเบียนบ้านที่คนตายมีชื่ออยู่ (ถ้ามี)
          5. พยานบุคคลที่รู้เห็นการตาย หรือการพบศพ เช่น เพื่อนบ้าน

2.กรณีคนตายนอกบ้าน เช่น ตายที่ศาลพักผู้โดยสาร บนรถยนต์ ห้างนา ตามป่าเขา เป็นต้น ผู้ที่มีหน้าที่ต้องแจ้งการตาย ได้แก่
          1. บุคคลที่ไปพบผู้ตายในขณะที่เกิดเหตุ
          2. ผู้พบศพ
          การแจ้งการตายกรณีนี้ จะต้องแจ้งภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาตายหรือเวลาที่พบศพ โดยวิธีแจ้งการตายและหลักฐานในการแจ้งนั้น ให้ใช้เช่นเดียวกันกับกรณีคนตายในบ้าน
การแจ้งการตายเกินกำหนดเวลา
          เมื่อมีคนตายแล้วไม่ได้แจ้งการตายภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาตาย เจ้าบ้านของบ้านหลังที่มีคนตาย หรือผู้พบศพ สามารถไปขอแจ้งการตายเกินกำหนดเวลาได้ โดยจะต้องเสียค่าปรับตามความผิดฐานไม่แจ้งการตายภายในกำหนดระยะตามกฎหมาย
การแจ้งตายกรณีพบศพโดยไม่ทราบว่าคนตายเป็นใคร
          ผู้พบศพจะต้องแจ้งการตายเช่นเดียวกับกรณีคนตายในบ้าน โดยเมื่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งการตายแล้ว จะต้องแจ้งไปยังพนักงานฝ่ายปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อทำการชันสูตรพลิกศพตามกฎหมายเสียก่อน เพื่อให้ทราบว่าคนตายเสียชีวิตด้วยสาเหตุใด เมื่อได้รับแจ้งความเห็นจากพนักงานสอบสวนแล้ว จึงจะออกใบตายหรือใบมรณบัตรได้